น้ำตกสายทิพย์ ทุ่งดอกหงอนนาค อุทยานแห่งชาติภูสอยดาว
(ดูภาพด้านล่าง)
หมายเหตุ : เนื้อหาและรูปภาพในหัวข้ออุทยานแห่งชาติภูสอยดาวนี้มีด้วยกันทั้งหมด 4 หน้า ท่านสามารถ click link ตัวเลขที่ด้านล่างสุดของหน้า เพื่อชมข้อมูลและรูปภาพในหน้าต่าง ๆ ได้ตามความต้องการ
เช้าวันที่สองของการเดินทางมายังภูสอยดาว พวกเราลืมตาตื่นขึ้นมาท่ามกลางแสงสลัวในยามอรุณรุ่ง เมฆฝนกลุ่มใหญ่ปกคลุมอยู่ทั่วท้องฟ้า หยดน้ำเล็ก ๆ ยังคงร่วงหล่นลงมาไม่หยุดหย่อน อากาศเยียบเย็นแต่ก็ยังไม่ถึงขั้นทำให้หนาวสั่น พวกเราขยับกายลุกขึ้นมาแปรงฟัน อาบน้ำ รับประทานอาหารเช้า และเตรียมตัวออกเดินทางไปยัง “น้ำตกสายทิพย์” น้ำตกสวยซึ่งเป็นหนึ่งในจุดหมายของการเก็บข้อมูลในวันนี้
จากจุดกางเต็นท์บนลานสนภูสอยดาวเดินย้อนกลับไปยังบริเวณทางลงภูจะมองเห็นป้ายบอกทาง “น้ำตกสายทิพย์” อยู่ด้านซ้ายมือ จากป้ายดังกล่าวเดินต่อไปอีกไม่เกิน 150 เมตรก็ได้จะพบกับตัวน้ำตก
“น้ำตกสายทิพย์” เป็นน้ำตกที่สวยงาม มีจำนวนชั้นทั้งหมด 7 ชั้น ในการเดินลงสู่ตัวน้ำตกนักท่องเที่ยวควรสวมใส่รองเท้าผ้าใบหรือรองเท้าที่มีความสามารถในการยึดเกาะพื้นผิวเป็นอย่างดีเนื่องจากทางลงสู่ตัวน้ำตกแต่ละชั้นค่อนข้างชันและลื่น ก้อนหินโดยรอบบริเวณน้ำตกถูกปกคลุมไปด้วยพืชจำพวกมอสและตะไคร่น้ำดูเขียวชอุ่มสวยงาม ปัจจุบันทางอุทยานแห่งชาติภูสอยดาวได้ทำรั้วไม้กั้นทางไว้ไม่ให้นักท่องเที่ยวเดินลงไปเกินน้ำตกสายทิพย์ชั้นที่ 5 เพื่อความปลอดภัย
|
"น้ำตกสายทิพย์" แห่งภูสอยดาว จ.อุตรดิตถ์ |
|
มอสและตะไคร่น้ำปกคลุมอยู่ทั่วโขดหินรายรอบตัวน้ำตก |
นอกจากน้ำตกสายทิพย์แล้ว.....ยังมีน้ำตกซึ่งมีความสวยงามและน่าสนใจบริเวณใกล้ ๆ กับลานสนภูสอยดาวอีก 2 แห่ง ได้แก่ “น้ำตกหุมพบ(น้ำตกหลุมพบ)” และ “น้ำตกมอส”
จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวกล่าวว่า “น้ำตกหุมพบ(น้ำตกหลุมพบ)” เป็นน้ำตกซึ่งมีความสูงชันมาก ถูกค้นพบโดยบุคคลชื่อ “หุม” อันเป็นที่มาของชื่อน้ำตก ต่อมาจึงมีการเรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น “น้ำตกหลุมพบ” ซึ่งเป็นคำเรียกที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยมากกว่า นักท่องเที่ยวซึ่งต้องการจะเดินทางไปชมความงดงามของน้ำตกแห่งนี้จำเป็นต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทาง สำหรับ “น้ำตกมอส” นั้นเป็นน้ำตกที่มีพืชจำพวกมอสและตะไคร่น้ำขึ้นปกคลุมโขดหินโดยรอบบริเวณน้ำตกเช่นเดียวกับ “น้ำตกสายทิพย์” แต่ “น้ำตกมอส” เป็นน้ำตกซึ่งตั้งอยู่ภายในอาณาเขตประเทศลาว การจะเดินทางไปท่องเที่ยวยังน้ำตกมอสจำเป็นต้องติดต่อขอเจ้าหน้าที่นำทางเช่นเดียวกันกับการเดินทางไปยังน้ำตกหุมพบ (ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอมไม่ได้เดินทางเข้าไปเก็บภาพถ่ายและข้อมูลของ “น้ำตกหุมพบ” และ “น้ำตกมอส” บริเวณตัวน้ำตก หากแต่ใช้วิธีการสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูสอยดาวแทนครับ)
ภายหลังจากที่ทีมงานท่องเที่ยวดอทคอม (www.thongteaw.com) เก็บภาพถ่ายน้ำตกสายทิพย์เสร็จเรียบร้อย พวกเราก็แวะนั่งพักรับประทานอาหารกลางวันแล้วจึงเดินกลับไปยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยวใกล้ ๆ กับจุดกางเต็นท์เพื่อสำรวจตรวจดูแผนที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติรอบลานสนภูสอยดาว (มีป้ายโลหะของแผนที่เส้นทางศึกษาธรรมชาติรอบลานสนภูสอยดาวปักอยู่บริเวณด้านหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวใกล้ ๆ กับจุดกางเต็นท์) เส้นทางศึกษาธรรมชาติสายนี้เป็นทางเดินซึ่งเชื่อมติดต่อกันจนเกือบจะเป็นทรงกลม มีระยะทางรวมประมาณ 2.3 กม. มีการสร้างป้ายคำอธิบายเกี่ยวกับระบบนิเวศน์บนลานสนภูสอยดาวและป้ายคำอธิบายข้อมูลสำคัญอื่น ๆ ตั้งเอาไว้ตามสถานีต่าง ๆ เป็นระยะ ๆ เช่น ชีวิตมหัศจรรย์บนลานสน , พิชิตภูเดียวเที่ยวสองประเทศ , หลุมบังเกอร์สมรภูมิร่มเกล้า , มณีเทวาบุปผาราชินี , จุดชมทิวทัศน์ยอดภูสอยดาว , ฯลฯ นักท่องเที่ยวสามารถใช้เวลาเพียงแค่ 1 – 2 ชม.เดินสำรวจเส้นทางสายนี้ได้จนทั่ว
|
..........ความสวยงามที่ผองคนเฝ้าค้นหา.......... |
|
ภูสอยดาว.....ดินแดนแห่งน้ำค้างกลางเที่ยง |
|
..........เด็กหลง (ระเริง) ป่า !?.......... |
แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาจนบ่ายคล้อยแต่เมฆหมอกก็ยังคงปกคลุมทั่วผืนฟ้าอยู่อย่างหนาแน่น เม็ดฝนน้อยใหญ่ร่วงหล่นโปรยปรายลงมาเป็นระลอก สายลมเย็นพัดพาละอองไอน้ำต้องกระทบกับร่างกายจนบางครั้งก็ทำให้รู้สึกหนาวสะท้าน บรรยากาศต่าง ๆ รายรอบตัวบ่งบอกถึงความหมายของสมญานาม “ดินแดนแห่งน้ำค้างกลางเที่ยง” ของภูสอยดาวได้เป็นอย่างดี ..........บ่ายวันนี้..........พวกเราตั้งใจว่าจะเดินวนเวียนไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติรอบลานสนภูสอยดาวให้ครบ 1 รอบ
พวกเรากำหนดจุดตั้งต้นบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวแล้วออกเดินไปตามเส้นทางศึกษาธรรมชาติด้านทิศตะวันออก ไม่นานนักพวกเราก็ได้มาพบกับต้นกล้วยไม้ “เอื้องแซะภูกระดึง” ที่กำลังออกดอกสีขาวบอบบางดูน่าทะนุถนอม ต้นกล้วยไม้เอื้องแซะภูกระดึงที่ชูช่อออกดอกอยู่บนลานสนภูสอยดาวนี้เป็นต้นกล้วยไม้ซึ่งพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาได้ทรงปล่อยคืนสู่ป่าไว้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2552 และได้รับการดูแลจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯมาตลอดจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
|
ดอกหงอนนาคสีขาวบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยากบนลานสนภูสอยดาว (ภาพที่ 3 จากซ้าย) |
|
น้ำค้างพร่างพราวจับกลีบดอกใบ.....จับหัวใจ.....จับตา |
จากต้นกล้วยไม้เอื้องแซะภูกระดึง พวกเราเดินผ่านป่าสนสามใบและทุ่งดอกหงอนนาคมาจนถึงสถานี “พิชิตภูเดียวเที่ยวสองประเทศ” ซึ่งมีหลักเขตแดนประเทศไทย – ลาวตั้งอยู่ หากข้ามหลักเขตแดนไปตามเส้นทางดินเข้าสู่ประเทศลาวก็จะสามารถเดินไปถึง “น้ำตกมอส” ได้ (แต่ต้องขอให้มีเจ้าหน้าที่นำทางไปด้วยนะครับ) ถัดจากสถานี “พิชิตภูเดียวเที่ยวสองประเทศ” พวกเราเดินเรื่อย ๆ ไปจนถึงสถานี “หลุมบังเกอร์สมรภูมิร่มเกล้า” หลุมบังเกอร์แห่งนี้เคยถูกใช้เป็นจุดปฏิบัติการทางทหารเมื่อสมัยที่ยังมีกรณีพิพาทเรื่องอาณาเขตดินแดนระหว่างประเทศไทย – ลาวบริเวณเนิน 1428 แต่ปัจจุบันแทบจะไม่สามารถมองเห็นเค้าโครงร่างของหลุมบังเกอร์ได้สักเท่าไหร่แล้ว
|
เส้นทางสู่ "จุดชมทิวทัศน์ยอดภูสอยดาว" |
ใกล้ ๆ กับสถานี “หลุมบังเกอร์สมรภูมิร่มเกล้า” จะมีทางแยก 2 เส้นทาง เส้นทางแรกมุ่งสู่ด้านทิศเหนือของลานสนไปสิ้นสุด ณ “จุดชมทิวทัศน์ยอดภูสอยดาว” จากจุดนี้นักท่องเที่ยวจะสามารถมองเห็นทิวทัศน์โดยรอบภูสอยดาวได้แบบ 360 องศา ในช่วงเวลาเช้าหรือเวลาเย็นหากคุณมีอารมณ์โรแมนติกมากพอก็อาจจะพกพาไฟฉายส่องทางมารอชมพระอาทิตย์ขึ้นหรือพระอาทิตย์ตกก็ได้ จุดชมทิวทัศน์ยอดภูสอยดาวนี้อยู่ห่างจากหลุมบังเกอร์สมรภูมิร่มเกล้าประมาณ 800 เมตรและไม่มีทางเดินเชื่อมต่อไปยังเส้นทางศึกษาธรรมชาติด้านอื่น ๆ (เมื่อเดินขึ้นไปถึงจุดชมทิวทัศน์ยอดภูสอยดาวแล้วต้องเดินย้อนกลับลงมาตามเส้นทางเดิมเท่านั้น) ส่วนเส้นทางที่สองเป็นเส้นทางเลาะเลียบไปตามขอบหน้าผาด้านทิศตะวันตกของลานสนภูสอยดาวยาวเชื่อมต่อไปจนถึง “จุดชมพระอาทิตย์ตกภูสอยดาว” และสามารถเดินย้อนกลับไปยังจุดตั้งต้นบริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยวได้ในที่สุด [นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเดินไปตามเส้นทางด้านทิศตะวันออกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว – พิชิตภูเดียวเที่ยวสองประเทศ – หลุมบังเกอร์สมรภูมิร่มเกล้า (แวะไปจุดชมทิวทัศน์ยอดภูสอยดาวได้) – จุดชมพระอาทิตย์ตกภูสอยดาว – ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หรือจะเลือกเดินไปตามเส้นทางด้านทิศตะวันตกจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว – จุดชมพระอาทิตย์ตกภูสอยดาว – บังเกอร์สมรภูมิร่มเกล้า (แวะไปจุดชมทิวทัศน์ยอดภูสอยดาวได้) – พิชิตภูเดียวเที่ยวสองประเทศ – ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ก็ได้]
..........ค่ำนี้พวกเราอาบน้ำ รับประทานอาหาร แปรงฟัน และเข้านอนเวลาประมาณ 21.30 น. ..........
|